สำนักงานการวิจัยแห่งชาติ หรือ วช. และ สำนักงานบริหารและพัฒนาองค์ความรู้ (องค์การมหาชน) หรือ OKMD นำผลงานวิจัยด้านเทคโนโลยีและนวัตกรรมมาพัฒนาและบูรณาการเป็นหลักสูตรบ่มเพาะตามแนวทางโมเดลเศรษฐกิจมุ่งสู่การพัฒนาที่ยั่งยืน หรือ BCG Economy Model ได้รับการตอบรับเกินเป้า 140%
จากผลการดำเนินงานที่ วช. และ OKMD ได้ร่วมกันจัดกิจกรรม “BCG on the move โมเดลเศรษฐกิจใหม่ สู่ความยั่งยืน” ในช่วงเดือนมีนาคม – เมษายน 2566 ที่ผ่านมา โดยการนำผลงานวิจัยด้านเทคโนโลยีและนวัตกรรมมาพัฒนาและบูรณาการเป็นหลักสูตรบ่มเพาะ มุ่งสร้างผู้ประกอบการพัฒนาโมเดลธุรกิจใหม่ๆ เข้าสู่เศรษฐกิจ BCG กว่า 20 หัวข้อ เน้น 3 กลุ่มธุรกิจสำคัญ ได้แก่ 1) ธุรกิจสังคมผู้สูงอายุ 2) ธุรกิจพลังงานสะอาดและผลิตภัณฑ์สีเขียว และ 3) กลุ่มธุรกิจเกษตรและอาหาร ครอบคลุมในพื้นที่ 12 จังหวัด เพื่อกระจายความรู้ไปสู่ผู้ประกอบการได้อย่างทั่วถึง ได้แก่ กรุงเทพมหานคร พระนครศรีอยุธยา ราชบุรี กาญจนบุรี ระยอง ชลบุรี ฉะเชิงเทรา ขอนแก่น นครราชสีมา เชียงใหม่ ลำพูน และพิษณุโลก โดยมีวิทยากรที่มีความเชี่ยวชาญ มีประสบการณ์ตรงและประสบความสำเร็จทางธุรกิจ มาถ่ายทอดองค์ความรู้และพัฒนาทักษะที่เกี่ยวข้องกับโมเดลเศรษฐกิจ BCG เพื่อให้ผู้ประกอบการสามารถนำไปพัฒนายกระดับสินค้าและบริการของตัวเอง
รวมทั้งการถ่ายทอดความรู้ในเรื่องการออกแบบธุรกิจด้วยโมเดล BMC หรือ Business Model Canvas จากวิทยากรผู้เชี่ยวชาญด้านการวางแผนและที่ปรึกษาด้านธุรกิจ เพื่อเติมเต็มและเสริมทักษะการวางแผนกลยุทธ์การตลาดให้เหมาะสมกับธุรกิจและผู้ประกอบการสามารถนำมาปรับใช้ให้สอดคล้องกับโมเดลเศรษฐกิจ BCG ให้เกิดผลสำเร็จในการประกอบธุรกิจได้อย่างสมบูรณ์แบบ
โดยได้รับกระแสตอบรับจากผู้ประกอบการทั้ง 3 กลุ่ม จำนวนกว่า 400 ราย (จากเป้าหมาย 300 ราย) ที่ได้เข้าร่วมกิจกรรมการอบรมเชิงปฏิบัติการ โดยผู้ประกอบการแต่ละกลุ่มสามารถนำองค์ความรู้ที่ได้จากหัวข้อนั้นๆ ไปปรับใช้กับธุรกิจได้ทันทีหลังจากจบกิจกรรม อาทิเช่น จากหัวข้อ โยเกิร์ตจากพืช บริการท่องเที่ยวสำหรับผู้สูงอายุ อาหารคลีนและผลิตภัณฑ์อาหารสำหรับผู้สูงอายุ ที่ได้รับกระแสตอบรับที่ดีมากอย่างล้มหลาม รวมถึงสามารถนำความรู้และไอเดียที่ได้รับไปต่อยอดสู่การสร้างสรรค์โมเดลธุรกิจใหม่ๆ ที่ยั่งยืนได้อีกด้วย ทั้งยังมีผู้ประกอบการรายใหม่ที่ติดตามและให้ความสนใจในเรื่องของโมเดลเศรษฐกิจ BCG ที่พร้อมจะเข้าร่วมกิจกรรมในโอกาสถัดไป
ทั้ง 2 หน่วยงาน ยังคงมุ่งมั่นสร้างความสำเร็จในการขับเคลื่อนกระจายองค์ความรู้และสร้างโอกาสทางธุรกิจให้กับผู้ประกอบการธุรกิจตามโมเดลเศรษฐกิจ BCG โดยดำเนินการต่อยอดกิจกรรมการประกวดแผนธุรกิจ Business Model Canvas ใน 3 กลุ่มธุรกิจ ที่แสดงให้เห็นถึงแนวโน้มของการปรับตัวเข้าสู่โมเดลเศรษฐกิจมุ่งสู่การพัฒนาที่ยั่งยืน รวมทั้งเตรียมการเผยแพร่ชุดองค์ความรู้ตามโมเดลเศรษฐกิจ BCG ที่ประกอบไปด้วย คู่มือองค์ความรู้ อินโฟกราฟิก 20 เรื่อง คลิปวิดีทัศน์เผยแพร่องค์ความรู้ 20 เรื่อง และรายการเผยแพร่เสียงผ่านแพลตฟอร์มออนไลน์20 เรื่อง โดยเป็นการถอดองค์ความรู้จากงานวิจัย และการนำเสนอกรณีความสำเร็จ โดยจะดำเนินการเผยแพร่ผ่านช่องทาง www.youtube.com/@OKMDTV
ทั้งนี้ เพื่อให้ประชาชนได้มีโอกาสเข้าถึงองค์ความรู้ที่จำเป็น นำไปสู่การยกระดับศักยภาพการเรียนรู้ การนำทักษะความรู้และความชำนาญไปปรับใช้ในการทำงานและในชีวิตประจำวัน การสร้างคุณค่าให้เศรษฐกิจและสังคมของประเทศด้วยนวัตกรรม เทคโนโลยี ซึ่งเป็นพื้นฐานในการพัฒนาประเทศให้เกิดความยั่งยืนในโลกปัจจุบันและอนาคตต่อไป
อนึ่ง สำนักงานการวิจัยแห่งชาติ หรือ วช. | สังกัดกระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม เป็นหน่วยงานของรัฐ ตามพระราชบัญญัติระเบียบบริหารราชการกระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม พ.ศ. 2562 ระบุไว้ ใน มาตรา 13 สำนักงานการวิจัยแห่งชาติ มีหน้าที่และอำนาจเกี่ยวกับการให้ทุนวิจัยและนวัตกรรม การจัดทำฐานข้อมูลและดัชนีด้านวิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรมของประเทศ การริเริ่ม ขับเคลื่อนและประสานการดำเนินงานโครงการวิจัยและนวัตกรรมที่สำคัญของประเทศ การจัดทำมาตรฐานและจริยธรรมการวิจัย การส่งเสริมและถ่ายทอดความรู้เพื่อใช้ประโยชน์ การส่งเสริมและสนับสนุนการพัฒนาบุคลากรด้านการวิจัยและนวัตกรรมและการให้รางวัล ประกาศเกียรติคุณ หรือยกย่องบุคคลหรือ หน่วยงานด้านการวิจัยและนวัตกรรม ดูข้อมูลได้ผ่านเว็บไซต์ www.nrct.go.th
ส่วนสำนักงานบริหารและพัฒนาองค์ความรู้ (องค์การมหาชน) หรือ OKMD | สังกัดสำนักนายกรัฐมนตรีจัดตั้งขึ้นเมื่อวันที่ 4 พฤษภาคม 2547 โดยพระราชกฤษฎีกาจัดตั้งสำนักงานบริหารและพัฒนาองค์ความรู้ (องค์การมหาชน) มีวัตถุประสงค์หลักในระยะเริ่มแรกของการจัดตั้งเพื่อส่งเสริมให้ประชาชนมีโอกาสแสวงหา พัฒนาความรู้ความสามารถเพื่อสร้างสรรค์และพัฒนาคุณภาพความคิดของประชาชนและเยาวชนของประเทศ มีพันธกิจคือ (1) จัดให้มีระบบการเรียนรู้สาธารณะและการเรียนรู้เพื่อสร้างสรรค์ภูมิปัญญาของประชาชน โดยผ่านกระบวนการเรียนรู้ที่ทันสมัย (2) สร้างแหล่งบริการองค์ความรู้รูปแบบใหม่ที่ทันสมัย มีชีวิตชีวา และอุดมด้วยความรู้ที่สร้างสรรค์ (3) สร้างนวัตกรรมรูปแบบการพัฒนาองค์ความรู้ใหม่ๆ ที่เป็นประโยชน์ต่อการพัฒนาเศรษฐกิจของประเทศและการพัฒนาคุณภาพชีวิตของประชาชน (4) ส่งเสริมเครือข่ายเพื่อพัฒนาและขับเคลื่อนองค์ความรู้ด้านต่างๆ ดูข้อมูลได้ทางเว็บไซต์ www.okmd.or.th
No comments:
Post a Comment